การซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิตในประเทศไทย

Last updated: 14 Dec 2022  |  540 Views  | 

การซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิตในประเทศไทย

ยุคนี้เรื่อง “Climate Change หรือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” ถูกพูดถึงกันมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วนะครับ แต่ละประเทศก็ออกกฎหมาย นโยบาย เพื่อให้ทุกภาคส่วนช่วยกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และปลูกต้นไม้กันมากขึ้น ดังนั้น จึงได้สร้าง “เครื่องมือทางการเงิน” ขึ้นมา เพื่อช่วยให้นโยบายมีคนอยากทำตามกันมากขึ้น หนึ่งในนั้นก็คือ การซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิต นั่นเองครับ
ขั้นตอนและวิธีการของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ขอยกตัวอย่างเป็นของประเทศไทยนะครับ ถ้าเรามีที่ดินเปล่า (ภาพที่ 1) และเราอยากปลูกพืชเศรษฐกิจ และ ขายคาร์บอนเครดิต ด้วย เราต้องทำดังนี้ครับ ปีที่เริ่มต้นโครงการ ขอเรียกว่า “ปีฐาน” นะครับ เมื่อเริ่มโครงการในปีฐาน มีขั้นตอนดังนี้
(1). ขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ซึ่งก็จะแบ่งตามประเภทต้นไม้และรูปแบบการปลูกครับ เช่น FOR-01 คือโครงการปลูกป่า/ต้นไม้ แบบไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ที่สามารถกักเก็บคาร์บอนฯ ไม่เกิน 16,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี โดยเมื่อขึ้นทะเบียนต้องเตรียมเอกสารต่างๆ เช่น หนังสือแสดงสิทธิการใช้ที่ดิน เอกสารการขึ้นทะเบียนโครงการ ระบุพิกัดรายละเอียดพื้นที่ และอื่นๆ
(2). เจ้าหน้าที่อบก. จะลงพื้นที่จริง โดยสุ่มตัวอย่าง 1% ของพื้นที่ทั้งหมด เพื่อตรวจสอบว่าปัจจุบันมีต้นไม้อยู่ไหม ถ้ามีอยู่บ้างจะคำนวณเป็นคาร์บอนได้เท่าไหร่
แต่ปัจจุบันเราสามารถใช้เทคโนโลยีดาวเทียม ร่วมกับระบบ AI เพื่อนำมาช่วยประเมินปริมาณคาร์บอนฯ ของพื้นที่จริงทั้งหมดได้แล้วนะครับ โดยค่าที่ได้มีความแม่นยำสูง และค่าใช้จ่ายถูกกว่าต้องใช้คนลงพื้นที่มาก (เดี๋ยวโพสหน้าจะมาแชร์เรื่องนี้นะครับ)
(3). เมื่อขึ้นทะเบียนสำเร็จ เราก็ปลูกต้นไม้ได้เลย แล้วก็บำรุงรักษา และรอๆๆ ให้ต้นไม้โตขึ้น มาถึงปีที่ 3, 6, และ 10 จะประเมินคาร์บอนได้แล้วนะครับ (ภาพที่ 3)
เจ้าหน้าที่อบก. จะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบว่าต้นไม้ที่เราปลูกไว้ โตขึ้นแค่ไหน (โดยจะประเมินทุก ปี) และคำนวณออกมาเป็นค่าการกักเก็บคาร์บอนฯ ได้เท่าไหร่ ตรงนี้แหละครับ ที่เราจะสามารถนำค่าการกักเก็บคาร์บอนฯ หรือที่เรียกว่า คาร์บอน เครดิต มาขายได้ โดยจะขายให้กับองค์กรที่ต้องนำไปใช้ เช่น โรงงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และต้องนำคาร์บอนเครดิตไปใช้ทดแทน (Carbon Offset)
ถ้าในกรณีที่ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม การคำนวนก็จะเริ่มต้นจากที่มีต้นไม้เก่าอยู่เท่าไหร่ และเมื่อถึงปีมี 3, 6 และ 10 ต้นไม้ที่เราฟื้นฟู โตขึ้นเท่าไหร่ และแปลงออกมาเป็นปริมาณการกักเก็บคาร์บอนฯ และสามารถขายได้เหมือนกัน (ภาพที่ 2)
ราคาขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย จากข้อมูลของ อบก. ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 34 บาท/ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) (ภาพที่ 4)
แต่ในต่างประเทศ ตลาดซื้อ-ขายคาร์บอนใหญ่มาก เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้ใช้ระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme: ETS) แล้ว ราคาปัจจุบันซื้อขายกันที่ US$18/tCO2e หรือ 576 บาท/ตันคาร์บอนฯ เลยล่ะครับ เพราะภาครัฐได้ออกกฎหมายเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทำให้คาร์บอนเครดิตมีความต้องการสูง ราคาก็จะเพิ่มสูงตามไปด้วย
ส่วนประเทศไทยบ้านเรา ตอนนี้ก็เริ่มตื่นตัวขึ้นมาบ้างแล้ว แต่ถ้ามีการบังคับใช้กฎหมายกันอย่างจริงจัง ก็น่าจะกระตุ้นให้คนอยากปลูกต้นไม้กันมากขึ้น ถ้าความต้องการเยอะ ตลาดจะได้คึกคักขึ้นมาหน่อยนะครับ
ข้อมูลเพิ่มเติมการขึ้นทะเบียน T-VER ดูได้จากที่นี่นะครับ https://ghgreduction.tgo.or.th/en/methodology/methodology-for-voluntary-emission-reduction/forestry-and-green-space.html?fbclid=IwAR0wd_EmNJM2Y57gHkwZERY4ANkedErPf29BCGBA__RrZUyoeQ9urkymLHU


ที่มาข้อมูล: องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) : www.tgo.or.th

ตลาดคาร์บอน: http://carbonmarket.tgo.or.th/

The World Bank: www.carbonpricingdashboard.worldbank.org

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy  and  Cookies Policy