ทำการเกษตรแบบไหนจะสามารถขาย carbon credit ได้ ?

Last updated: 13 มี.ค. 2566  |  871 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ทำการเกษตรแบบไหนจะสามารถขาย carbon credit ได้ ?

   สมัยนี้ทุกภาคส่วนเริ่มรณรงค์ ปลูกจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วนะครับ การสนับสนุน ด้วยการปลูกป่า หรือทำการเกษตรด้วยวิธีที่เหมาะสม เพื่อช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ก็เป็นส่วนที่สำคัญมาก ดังนั้น ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซื่งเป็นเครื่องมือทางการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม จึงเข้ามาเป็นแรงผลักดันได้อย่างดีเลยครับ
แล้วถ้าเราอยากปลูกต้นไม้ เพื่อขายคาร์บอนเครดิตบ้างล่ะ ต้องทำโครงการแบบไหน ถึงจะขึ้นทะเบียน T-VER กับองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ได้ โพสต์นี้จะขออธิบายการขึ้นทะเบียนโครงการ 2 ประเภทนะครับ (1) ภาคป่าไม้ เช่น การปลูกป่าหรือฟื้นฟูป่า และ (2) ภาคเกษตร เช่น การปลูกสวนผลไม้ หรือการใช้ปุ๋ยอย่างถูกวิธี

   โครงการที่ขึ้นทะเบียน T-VER ภาคป่าไม้ จะแบ่งเป็น 4 กลุ่มครับ ขออธิบายเงื่อนไขคร่าวๆ ถ้าท่านใดสนใจกลุ่มไหน ก็เข้าไปดูรายละเอียดตามลิงค์ที่ให้ไว้ได้เลยนะครับ


1. FOR-01: การปลูกป่าอย่างยั่งยืน (โครงการเล็ก)
- มีพื้นที่โครงการไม่ต่ำกว่า 10 ไร่ (รวมกันหลายพื้นที่ได้)
- มีหนังสือแสดงสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมาย
- ถ้าพื้นที่เดิมมีสภาพเป็นป่า ก่อนเริ่มโครงการต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศป่าไม้ดั้งเดิม
- ห้ามนำไม้ออก (ตัดไม้) ในช่วง 10 ปีตั้งแต่เริ่มโครงการ
- มีการปลูก ดูแล และการจัดการอย่างถูกวิธี และเป็นไม้ยืนต้น
- เป็นโครงการขนาดเล็ก สามารถกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้ไม่เกิน 16,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี (หรือเทียบกับการปลูกต้นสัก 8,000 ไร่ โดยคำนวณการกักเก็บคาร์บอนที่ 2 ตันคาร์บอนฯ/ไร่/ปี)


2. FOR-02: การอนุรักษ์หรือฟื้นฟูป่า
- พื้นที่โครงการต้องมีสภาพเป็นป่า คือมีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 1 ไร่ ความหนาแน่นของไม้ไม่ต่ำกว่า 30% และต้นไม้เมื่อโตเต็มที่สูงเกิน 3 เมตร
- มีหนังสือแสดงสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมาย
- ก่อนเริ่มโครงการต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศป่าไม้ดั้งเดิม
- เป็นพื้นที่ที่มีแนวโน้มจะมีการเปลี่ยนแปลงจากพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ที่ไม่ใช่ป่า
- ในกรณีที่มีการปลูกเสริม ต้องคัดเลือกชนิดพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับระบบนิเวศเดิมในพื้นที่
- มีมาตรการในการป้องกันการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่น
- มีกิจกรรมในการลดความเสื่อมโทรม และเพิ่มพูนคาร์บอนของพื้นที่ป่า


3. FOR-03 : การปลูกป่าอย่างยั่งยืน (โครงการใหญ่)
- เงื่อนไขจะเหมือน FOR-01 ครับ แต่จะต่างกันตรงที่เป็นเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่สามารถกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 16,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี


4. FOR-04 : การปลูกสวนไม้เศรษฐกิจโตเร็ว
เงื่อนไขจะคล้ายกับ FOR-01 และ FOR-3 ครับ แต่จะต่างกันบ้าง เช่น
- ต้องปลูกเป็นชนิดไม้ยืนต้นโตเร็วตาม ประกาศของ อบก. ดังนี้ ยูคาลิปตัส กระถินเทพา กระถินณรงค์ กระถินยักษ์ ตะกู มะฮอกกานี สะเดา สะเดาเทียม สนประดิพัทธ์ สนทะเล ไผ่ชนิดต่างๆ
- กำหนดให้รอบตัดฟันไม่น้อยกว่า 10 ปี
- ห้ามการทำไม้ออกทั้งหมดตลอดอายุโครงการ ยกเว้นการตัดเพื่อการบำรุงรักษาและจัดการหมู่ไม้ตามแผนที่กำหนด
- ก่อนเริ่มดำเนินโครงการ ต้องไม่เป็นพื้นที่ที่มีการตัดไม้ยืนต้นออกก่อนครบอายุรอบตัดฟัน เพื่อทำการปลูกไม้ยืนต้นโตเร็วรอบใหม่
- ไม่ได้กำหนดปริมาณการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก

มาถึงภาคเกษตร จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มครับ

1. AGR-01: การใช้ปุ๋ยอย่างถูกวิธีในพื้นที่การเกษตร
- เป็นพื้นที่ที่ทำการเกษตรมาไม่น้อยกว่า 5 ปี
- มีหนังสือแสดงสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมาย
- ไม่เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อดินถล่ม
- มีข้อมูลการใช้ปุ๋ย และ/หรือ สารปรับปรุงดินย้อนหลังในพื้นที่โครงการหรือข้อมูลอ้างอิงจากพื้นที่ใกล้เคียง ไม่น้อยกว่า 3 ปี (แต่ถ้าไม่มีข้อมูลตรงนี้ สามารถใช้ข้อมูลอ้างอิงจากหน่วยงานราชการได้)
- เป็นพื้นที่การเกษตรที่ปรับการใช้ปุ๋ย และ/หรือ สารปรับปรุงดินอย่างถูกต้องและเหมาะสม
- เป็นโครงการขนาดเล็ก ซึ่งมีปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกไม่เกิน
5,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

2. AGR-02: การกักเก็บคาร์บอนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับการปลูกพืชเกษตรยืนต้น เช่น สวนผลไม้ ยางพารา
เงื่อนไขจะคล้ายกับ AGR-01 แต่ต่างกันบ้าง ดังนี้
- ไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นพื้นที่ที่ทำการเกษตรมาไม่น้อยกว่า 5 ปี
- ไม่ได้กำหนดปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก
- เป็นพื้นที่สำหรับการปลูกพืชเกษตรยืนต้น ที่มีการปลูก ดูแล และจัดการอย่างถูกวิธี
- เป็นการปลูกพืชเกษตรยืนต้น ที่มีรูปแบบการปลูกเป็นสวนเชิงเดี่ยว หรือเป็นสวนผสม
- เป็นรูปแบบการปลูกพืชเกษตรยืนต้นที่ต้องมีบำรุงรักษาอยู่อย่างสม่ำเสมอเพื่อรักษาผลผลิตให้ได้อย่างต่อเนื่อง
- ห้ามตัดพืชเกษตรยืนต้นออกก่อนครบอายุรอบการผลิต/รอบตัดฟัน เพื่อทำการปลูกพืชเกษตรยืนต้นรอบใหม่

ข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดูได้ที่นี่นะครับ
ภาคป่าไม้: https://bit.ly/3Jaf1th
ภาคเกษตร: https://bit.ly/3s79BYT

 การปลูกสวนป่า เป็นโครงการระยะยาว ที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางอ้อมให้กับอนาคต หรืออาจจะเป็นสินทรัพย์-เงินออมยามเกษียณเลยก็ว่าได้นะครับ ประโยชน์ของสวนป่ามีอยู่มากมาย ทั้งนำไม้มาใช้งาน สร้างบ้านเรือน นำไม้ผลมาบริโภคหรือเก็บขาย และอนาคตก็ยังสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการขายไม้นะครับ
  ส่วนการขายคาร์บอนเครดิต ก็จะเป็นรายได้เสริม เพิ่มเติมกำไรให้กับผู้ปลูกสวนป่าครับ ซึ่งถ้าจะให้คุ้มค่าการดำเนินโครงการ ก็ควรจะต้องมีพื้นที่อย่างน้อย 300 ไร่ขึ้นไป แต่ถ้าเรามีพื้นที่น้อยก็สามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เพื่อให้ได้พื้นที่ขนาดใหญ่ประมาณหนึ่ง แล้วค่อยขึ้นทะเบียนโครงการได้ครับ
   ส่วนกำไรอีกอย่างหนึ่งของการปลูกสวนป่า ที่เราไม่อาจมองข้ามได้ และไม่สามารถแปลงเป็นเงินได้ คือ คุณค่าทางจิตใจ การเยียวยาด้วยความงามจากธรรมชาติ ซึ่งน่าอัศจรรย์มากครับ ที่ธรรมชาติสร้างพลังงานบวกให้เราได้จริง เพียงแค่เราได้กลิ่น สัมผัส และเฝ้ามองการเจริญเติบโต
รู้อย่างนี้แล้ว อย่ารอช้า เรามาเริ่มปลูกสวนป่า ‘ไม้มีค่า’ ‘ไม้สร้างพลังบวก’ กันเถอะครับ

ที่มาข้อมูล : องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)


 

 


 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้