Last updated: 16 มี.ค. 2566 | 799 จำนวนผู้เข้าชม |
ประเทศไทย เมือง “อู่ข้าวอู่น้ำ” เป็นสมญานามที่เราได้ยินกันมาตลอดใช่ไหมครับ และยังแถมเคยได้ชื่อว่าเป็น “ครัวโลก” และเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกอีกด้วย แต่คำ ๆ นี้จะยังอยู่กับเราไปได้อีกนานแค่ไหนกัน เพราะหลายปีที่ผ่านมา พื้นที่เกษตรลดลง ชาวนาก็เปลี่ยนอาชีพกันไปเยอะแล้ว เนื่องจากผลผลิตไม่คุ้มค่าปุ๋ย ค่ายาปราบศัตรูพืช แถมขาดน้ำในการทำนา ผลผลิตที่ได้ก็ตกต่ำ ทั้งปริมาณและประสิทธิภาพการผลิต แล้วมันขนาดไหนกันละครับ....
ดูจากสถิติ World Rice Production by Country (ภาพที่ 1) ประเทศไทยเราผลิตข้าว (ปี 2564) ได้จำนวน 28 ล้านตัน และใช้พื้นที่ปลูกข้าว 60 ล้านไร่ (9.7 เฮกตาร์) อยู่อันดับที่ 6 ของโลก ซึ่งก็ยังแพ้เวียดนาม ที่ผลิตข้าวได้ 43 ล้านตัน และใช้พื้นที่ปลูกข้าว 46 ล้านไร่ (7.4 เฮกตาร์) ซึ่งอยู่อันดับที่ 5 ของโลก
พื้นที่ผลิตข้าวของไทยเราเยอะกว่าเวียดนามก็จริง แต่ปริมาณผลผลิตข้าวต่อไร่ (rice yield) ของเรายังต่ำมาก จากข้อมูลสถิติ (ภาพที่ 2) ปริมาณผลผลิตต่อไร่ ของเราอยู่ที่ 466 กิโลกรัม/ไร่ และอยู่อันดับที่ 81 ของโลก จาก 119 ประเทศที่ปลูกข้าว ซึ่งก็ยังน้อยกว่าผลผลิตข้าวของประเทศเพื่อนบ้านรอบ ๆ เราด้วยนะครับ เช่น ประเทศเวียดนาม 930 กก./ไร่, ประเทศลาว 701 กก./ไร่, กัมพูชา 580 กก./ไร่, และประเทศที่ครองอันดับหนึ่งมาโดยตลอด ก็คือประเทศออสเตรเลีย ที่เป็นประเทศเกาะ กลางประเทศเป็นทะเลทราย และมีน้ำจืดอยู่อย่างจำกัด แต่ปลูกข้าวได้ผลผลิตอยู่ที่ 1,403 กก./ไร่ แล้วเค้าสามารถสร้างผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่มากมายเช่นนี้ได้อย่างไร แอดมินจะเล่าให้ฟังครับ
ประการแรกเลย นักวิทยาศาสตร์จะทำการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ข้าว ให้ใช้น้ำน้อย และให้ได้ผลผลิตคุณภาพสูง ต่อมาทางการจะถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกร เพื่อให้ทำการเพาะปลูกด้วยวิธีที่ถูกต้อง ในช่วงเวลาที่กำหนด เพราะจะมีการจัดสรรน้ำตามพื้นที่ที่กำหนดเท่านั้น (ดูจากภาพได้นะครับ)
จากนั้นเกษตรกรจะมีการเตรียมดิน ใส่ปุ๋ยบำรุงดิน มีการปล่อยน้ำเข้าแปลง และใช้เครื่องบินขนาดเล็กควบคุมการหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยพิกัดดาวเทียม
และในช่วงต้นกล้า จะมีการปล่อยน้ำเข้าและออกสลับกันไป ซึ่งจะเป็นวิธีการเดียวกับที่กรมการข้าวของไทยเรา แนะนำให้เกษตรกรทำ ที่เรียกว่า “เปียกสลับแห้งแกล้งข้าว” นะครับ วิธีการนี้ จะทำให้ประหยัดการใช้น้ำไปได้ประมาณ 30-50% ลดปัญหานาหล่ม ป้องกันเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เนื่องจากความชื้นที่โคนกอข้าวต่ำ และกระตุ้นการออกรากของข้าว แต่วิธีการนี้ ก็จะเหมาะกับนาชลประทาน ที่สามารถควบคุมน้ำได้นะครับ
ต่อมาช่วงแตกกอ จะมีการปล่อยน้ำเข้าแปลง โดยการเปิดที่กั้นน้ำ ช่วงออกดอกก็มีการควบคุมระดับน้ำให้เหมาะสม และมีการตรวจดูสุขภาพพืชอย่างใกล้ชิด โดยใช้เทคโนโลยี ข้อมูล NDVI (ดัชนีความสมบูรณ์ของพืชพรรณ) จากโดรน หรือดาวเทียม ถ้าตรงจุดไหนแสดงสีที่ผิดปกติ เช่น เหลือง ส้ม หรือแดง ซึ่งอาจมีสาเหตุจากโรคแมลง น้ำหรือปุ๋ยไม่พอ จะได้แก้ไขได้ทันท่วงทีครับ
ในช่วงสุกแก่ จะมีการปิดที่กั้นน้ำ โดยให้ข้าวใช้แค่น้ำที่เหลืออยู่ในแปลงเท่านั้น จากนั้นจะมีการนำตัวอย่างข้าวมาตรวจสอบความพร้อมที่จะเก็บเกี่ยว เช่น ความชื้นข้าวที่ 22% เมื่อพร้อมก็เก็บเกี่ยว และอบแห้งเพื่อให้ได้ความชื้นที่ 14% จากนั้นจะมีการสีข้าวเปลือก คัดคุณภาพของเมล็ดข้าว และบรรจุถุงเพื่อจำหน่าย
สรุปแล้ว การนำเทคโนโลยีมาใช้ ร่วมกับข้อมูล Big Data งานวิจัยพัฒนาต่างๆ และการสนับสนุนให้เกษตรกรลงมือกระทำด้วยแนวทางที่ถูกต้อง สำคัญมากนะครับ และถ้าตั้งเป้าปริมาณผลผลิตที่มากขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็อย่าลืมเรื่อง การพัฒนาคุณภาพของผลิตผล ความหอมอร่อยของข้าวหอมมะลิไทย และตลาดที่ต้องรองรับกับจำนวนผลผลิตที่จะตามมาด้วย ไม่อย่างนั้น ราคาข้าวอาจจะยิ่งตกต่ำลงไปอีก เกษตรกรก็จะยิ่งเสียกำลังใจในการปลูกข้าว และเลิกทำอาชีพนี้กันไปเลยก็ได้นะครับ
ที่มาข้อมูล: World Rice Production by Country, May 2022
( www.atlasbig.com/en-us/countries-by-rice-production )
Ricegrowers Association of Australia, All About Australian Rice, April 2014
9 มิ.ย. 2566
9 มิ.ย. 2566