การวัดค่าของการกักเก็บคาร์บอน ทำอย่างไร เราจะนำปริมาณคาร์บอนไปขายได้เท่าไหร่บ้าง ?

Last updated: 16 มี.ค. 2566  |  1511 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การวัดค่าของการกักเก็บคาร์บอน ทำอย่างไร เราจะนำปริมาณคาร์บอนไปขายได้เท่าไหร่บ้าง ?

   ปัจจุบันนี้กระแสรักษ์โลกกำลังมาแรงเลยใช่ไหมครับ ยิ่งเราได้ผู้ว่ากรุงเทพ ฯ ท่านชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มาช่วยรณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัวและตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มโครงการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้นในกรุงเทพ ฯ เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียว

  แต่ถ้าจะให้ได้ผลดียิ่งขึ้น ก็ต้องรณรงค์เหมือนในต่างประเทศครับ ที่บอกว่าการปลูกป่าทำให้ได้ประโยชน์ 2 ต่อ ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและยังได้เงินด้วย โดยการนำค่าการกักเก็บคาร์บอน ฯ (Carbon Credit) มาขายได้ ในตลาดซื้อขายคาร์บอน ซึ่งก็จะทำให้มีคนสนใจกันมากขึ้นเลยนะครับ
ว่าแต่ ในกระบวนการที่ดูว่า ต้นไม้ที่เราปลูก จะได้ค่าการกักเก็บคาร์บอน (เพื่อนำไปขาย) ได้เท่าไหร่ และมีวิธีการวัดค่ายังไงบ้าง
 

   วิธีการแรกที่ประเทศไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นวิธีการตรวจวัดขององค์กรก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ของประเทศไทย สำหรับภาคป่าไม้ คือการใช้คนลงพื้นที่ (ภาพที่ 1) และวางแปลงเพื่อสำรวจต้นไม้ จากการสุ่มแปลงจำนวน 1% ของพื้นที่ทั้งหมด หรือใช้การแบ่งจากปริมาณความหนาแน่นและชนิดของป่าไม้ในแต่ละพื้นที่


   ต่อมาจะวัดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง และความสูงของต้นไม้ เพื่อนำมาคำนวณมวลชีวภาพ (Biomass) ทั้งเหนือดินและใต้ดิน แล้วก็ใช้ค่าที่ได้จากพื้นที่แปลงตัวอย่างนั้นมาเป็นคำนวณกลับเพื่อเป็นปริมาณคาร์บอนที่เป็นตัวแทนของพื้นที่ทั้งหมด ดังนั้นปริมาณการกักเก็บคาร์บอนที่จะได้มากหรือน้อย ก็จะขึ้นอยู่กับชนิดของต้นไม้ การวางแปลง และความหนาแน่นของต้นไม้ในพื้นที่นั้นๆ นะครับ (ยิ่งมีต้นไม้มาก ก็ยิ่งมีปริมาณการกักเก็บคาร์บอนได้มากนะครับ)


   เรามาดูตัวอย่างโครงการกันครับ (ภาพที่ 2) ”โครงการปลูกป่าอย่างยั่งยืน พื้นที่สวนป่าขุนแม่คำมี จังหวัดแพร่" มีพื้นที่โครงการ: 19,454 ไร่ เจ้าของโครงการคือ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีการลงทะเบียนโครงการ T-VER ตั้งแต่ปี 2016 (T-VER เป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจก ภาคสมัครใจในประเทศไทย ที่ อบก. ได้พัฒนาขึ้น : http://ghgreduction.tgo.or.th/ )

ผลจากการวางแปลงสำรวจ (ภาพที่ 3) โดยใช้คนลงพื้นที่ และคำนวณออกมาเป็นค่าเฉลี่ยของปริมาณการกักเก็บคาร์บอนฯ ของพื้นที่สวนป่าขุนแม่คำมี ซึ่งจากรายงาน ได้ระบุปริมาณการกักเก็บคาร์บอน ของปีฐานทั้งโครงการอยู่ที่ 243,728 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า (tCO2eq) แต่วิธีนี้ก็ยังมีต้นทุนที่สูงอยู่นะครับ เช่น จากแรงงานคนลงภาคสนาม และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ตามมา


   และอีกวิธีการหนึ่ง ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับระดับสากล หรือ Verified Carbon Standard (VCS): โดย verra.org คือการใช้แบบจำลองที่ได้มาจากเทคโนโลยีข้อมูลระยะไกล (Remote Sensing) ซึ่งรวมถึง ข้อมูลที่ได้จากดาวเทียมสำรวจทรัพยากร ร่วมกับโดรนสำรวจ (Airborne LiDAR) และข้อมูลภาคสนามที่ได้มีการบันทึกอย่างเป็นระบบ มาใช้ประเมินการกักเก็บคาร์บอน วิธีการนี้ช่วยลดข้อจำกัดด้านคนลงพื้นที่ การเข้าถึงพื้นที่ป่าที่ยากลำบากรวมถึงพื้นที่ป่าลึก และที่สำคัญ คือจะทำให้ต้นทุนในการขึ้นทะเบียน เพื่อขายคาร์บอนเครดิตลดลงด้วยนะครับ

   ผลลัพธ์ที่ทีมนักวิจัยของ Earth Insights ได้ลองประเมินการกักเก็บคาร์บอนโดยใช้ดาวเทียม ของพื้นที่สวนป่าขุนแม่คำมี (ภาพที่ 5) โดยได้ปริมาณคาร์บอนทั้งหมด 286,497 tCO2eq ซึ่งวีธีการนี้ ก็จะสามารถดูปริมาณคาร์บอน ในแต่ละจุดของพื้นที่ได้เลยนะครับ


 และถ้าใครอยากอ่านข้อมูลวิธีการประเมินการกักเก็บคาร์บอน โดยใช้ดาวเทียมเพิ่มเติม สามารถดูได้ที่นี่: https://verra.org/.../vt0005-tool-for-measuring...


แต่บางคนอาจจะสงสัยว่า แล้ววิธีการนี้ มีความแม่นยำมากน้อยแค่ไหน

จากงานวิจัยโดย Jha et al. (2021) ซึ่งได้ทำงานวิจัยนี้ในประเทศไทย แสดงให้เห็นว่า การประเมินมวลชีวภาพเหนือพื้นดิน (Above ground Biomass) จากภาพถ่ายดาวเทียม เช่น Sentinel-2 ที่มีความละเอียด 10 เมตร มีความแม่นยำมาก (R=0.78) ในพื้นที่ป่าที่มีความหนาแน่นของชีวมวลปานกลาง (ปริมาณมวลชีวภาพน้อยกว่า 200 Mg/ha) อย่างผืนป่าของประเทศไทยเรานี่แหละครับ


   ดังนั้น การสนับสนุนให้ตลาดคาร์บอนโตขึ้น เผื่อทำให้บรรลุเป้าหมาย ที่ผู้นำของประเทศไทยเราประกาศในงาน COP26 : (1) ความเป็นกลางของคาร์บอน (Carbon Neutrality) ปี 2050 (2) ก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ปี 2065 ก็ต้องทำให้วิธีการมันง่ายขึ้น และต้นทุนการเข้าโครงการต่ำที่สุด ทุกคนจะได้อยากเข้าร่วมกันในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่ากันมาก ๆ นะครับ
และ การนำเอาเทคโนโลยีดาวเทียมมาใช้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดข้อจำกัดของการประเมินคาร์บอนแบบเดิม เช่น ลดการใช้คนลงพื้นที่ภาคสนาม ลดต้นทุน เวลา และยังได้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ ครอบคลุมพื้นที่มากกว่าด้วยนะครับ

ที่มาข้อมูล:

[1] องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
[2] Jha et al., The real potential of current passive satellite data to map aboveground biomass in tropical forests, 2021


 
 
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้