คาดการณ์สภาพอากาศโลก ปี 2022

Last updated: 14 ธ.ค. 2565  |  582 จำนวนผู้เข้าชม  | 

คาดการณ์สภาพอากาศโลก ปี 2022

ปีนี้แล้งไหม หรือจะน้ำท่วม เป็นคำถามที่หลายๆ คน มักถามกันตลอดเลยใช่ไหมครับ ซึ่งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จะช่วยให้ความกระจ่างได้ดีทีเดียว อันที่จริงปัจจัยว่าจะเกิดภัยแล้งในพื้นที่นั้นไหม มันมีหลายอย่างมาก เช่น การเตรียมปริมาณน้ำในเขื่อน ฝนทิ้งช่วง ดินบริเวณนั้นเก็บความชื้นได้ไม่ดี น้ำใต้ดินน้อย หรือถ้าน้ำท่วม เช่น ช่วงนั้นมีพายุเข้าหลายๆ ลูกติดต่อกัน
ซึ่งการคาดการณ์โดยใช้ดัชนีอากาศ ENSO Index ก็เป็นหนึ่งในดัชนีที่ทั่วโลกนำมาใช้กันนะครับ ดัชนีอากาศ ENSO Index (El Niño-Southern Oscillation) เอนโซ่ เป็นคำที่ใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในแปซิฟิก เขตศูนย์สูตร และความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ จึงหมายความรวมถึง ปรากฏการณ์ทั้งเอลนีโญ (el niño) และลานีญา (la niña) นั่นล่ะครับ
ประเทศไทยเราก็ได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์นี้เหมือนกัน ถ้าช่วงไหนเป็น เอลนีโญ อากาศก็จะร้อน และแห้งแล้ง และถ้าช่วงไหนเป็น ลานีญา ปริมาณฝนก็จะมากกว่าปกติ และอากาศก็จะเย็นขึ้นด้วยครับ
ทีนี้เราลองมาดูข้อมูลคาดการณ์ของปีนี้ (2022) กันครับ (ภาพที่ 1) ข้อมูลจากสถาบัน National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) ประเทศสหรัฐอเมริกา แสดงข้อมูลเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565
กราฟมันอาจจะดูยากๆ หน่อยนะครับ แต่ไม่ต้องกังวล เราใช้ดูเป็นเทรนหรือแนวโน้มความน่าจะเป็นตลอดทั้งปีครับ ซึ่งกราฟจะแสดงความน่าจะเป็นในช่วงทุกๆ 3 เดือน และคาดการณ์ออกมาเป็น % ความน่าจะเป็นของสถานการณ์นั้นๆ เช่น แท่งกราฟสีน้ำเงิน แสดง % ความน่าจะเป็นของลานีญา (La Nina Forecast Probability), สีแดง แสดง % ของเอลนีโญ (El Nino Forecast Probability และแท่งสีเทาแสดง % ความน่าจะเป็นของสถานการณ์ปกติ (Neutral Forecast Probability) คือปริมาณน้ำฝนไม่มากหรือน้อยไปกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี ของช่วงเวลานั้น
NOAA คาดการณ์ว่าปี 2022 นี้ ในช่วงเดือน มกราคม ต่อเนื่องไปจนมีนาคม สถานการณ์ยังเป็นลานีญา (กราฟแท่งสีน้ำเงินสูงกว่าแท่นอื่นๆ) ยังมีฝนมากกว่าปกติ และอากาศก็จะเย็นกว่าปกติของช่วงเวลานั้น ซึ่งถ้าเราสังเกตช่วงต้นปีนี้ทางภาคเหนือของไทยเรา ก็ยังมีฝนตกอยู่บ้างนะครับ และสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ (Neutral) ปริมาณน้ำฝนจะปกติ หรือไม่มากหรือน้อยไปกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปีของช่วงเวลานั้น ช่วงเดือนเมษายน ถึง มิถุนายน และต่อเนื่องจนถึงปลายปีเลยครับ (กราฟแท่งสีเทาสูงกว่าแท่งอื่นๆ)
ทีนี้ เราลองมาดูปีที่เกิดภัยแล้งกันครับ ปี 2019 (ภาพที่ 2) เห็นไหมครับว่า เป็นปีแห่ง เอลนีโญ จริงๆ กราฟแท่งสีแดงสูงนำตั้งแต่ต้นปีเลยทีเดียว ซึ่งปีนั้นประเทศไทยเราก็แล้งจริงๆ ครับ แม่น้ำแห้งเหือด ปริมาณน้ำในเขื่อนเหลืออยู่ไม่ถึง 10% การเกษตรเสียหายหนักมาก
แล้วถ้าปีที่สถานการณ์ปกติละครับ เรามาดูของปี 2020 (ภาพที่ 3) กราฟแท่งสีเทาสูงนำเลยครับ ปีนั้นบริษัทประกันภัยพืชผลเกษตรบอกว่า สบายมาก ยอดเครมภัยพิบัติแทบไม่มีเลย กำไรไปเลยครับ
แต่การคาดการณ์ก็จะแม่นยำในช่วงใกล้ๆ เช่น ประมาณ 3 เดือนข้างหน้า ยิ่งนานไปความแม่นยำก็จะลดลง และยิ่งมี Climate Change ด้วย สภาพอากาศก็จะเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอด ซึ่งทาง NOAA ก็จะแสดงข้อมูลคาดการณ์นี้ออกมาทุกเดือนนะครับ
ข้อมูลพวกนี้ อยากให้เอามาใช้กันเยอะๆ บ้านเราเป็นประเทศแห่งเกษตรกรรมด้วย ยิ่งเราใช้ข้อมูลมากเท่าไหร่ เราจะได้วางแผนรับมือกับสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้นนะครับ
ที่มาข้อมูล: (1). National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA), IRI ENSO Forecast, January 2022
(2). Columbia Climate School International Research Institute for Climate and Society: IRI ENSO Forecast (https://iri.columbia.edu)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้